จดหมายจาก ผอ.พอช.
(ฉบับที่ 4 วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2560)
ในช่วงสัปดาห์นี้อากาศค่อนไปทางหนาว ทำให้คน กทม. ได้มีโอกาสได้ใส่เสื้อกันหนาวกันเลยทีเดียว อย่างไรก็ขอให้พวกเรารักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ได้ตรวจเยี่ยมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พร้อมทั้งมอบนโยบายในการบริหารงาน โดยมีผู้บริหาร , เจ้าหน้าที่สถาบันฯ และตัวแทนเครือข่ายชาวชุมชนจากโครงการบ้านมั่นคง ชุมชนริมคลอง สภาองค์กรชุมชน สวัสดิการชุมชน คนไร้บ้าน ฯลฯ ประมาณ 100 คนให้การต้อนรับ ทั้งนี้พลเอกอนันตพรได้เดินชมนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานต่างๆ ของสถาบันฯ และเครือข่ายองค์กรชุมชน และซักถามด้วยความสนใจ หลังจากนั้นจึงรับฟังการบรรยายสรุปจากทางสถาบันฯ ที่ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้ความสนใจต่อการดำเนินโครงการของสถาบันฯ โดยซักถามถึงความคืบหน้าในการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ปทุมธานีโมเดล เจ้าพระยา เครือข่ายการดำเนินงานทั่วประเทศของสถาบัน โครงการประชารัฐ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการเสนอตัวเลขและข้อมูลผลการดำเนินของสถาบันฯ เพื่อนำไปประกอบการเสนอของบประมาณจากรัฐบาล นอกจากนี้ รมว.พม.ยังเสนอความเห็นว่าหากประชาชนสามารถนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาซื้อสินค้าที่ชุมชนผลิตได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพื่อช่วยสนับสนุนสินค้าจากชุมชน ซึ่งตนพร้อมที่จะสนับสนุน แต่ต้องทำเป็นโมเดลขึ้นมา เพื่อนำไปเสนอต่อรัฐบาล ทั้งนี้หลังจากเสร็จจากการรับฟังบรรยายในห้องประชุมแล้ว พลเอกอนันตพรได้เดินตรวจเยี่ยมสำนักงานต่างๆ ในสถาบันฯ และทักทายกับเจ้าหน้าที่ด้วยความเป็นกันเอง รวมทั้งยังได้อุดหนุนสินค้าที่สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง นำมาจำหน่ายด้วย ถัดมาก็มีงานในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม 2560 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ใช้ชื่อการประชุมครั้งนี้ว่า “1 ทศวรรษสภาองค์กรชุมชน น้อมนำศาสตร์พระราชา เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลที่มาจากตัวแทนแต่ละจังหวัดๆ ละ 2 คน รวมทั้งตัวแทนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมทั้งหมดประมาณ 200 คน และในวันที่ 15 ธันวาคม ได้มีการยื่นข้อเสนอทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง พม. ต่อ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม. เพื่อนำไปพิจารณาแก้ปัญหา ส่วนปัญหาการจัดการน้ำ-ที่ดิน-ป่าไม้-ทะเล-ความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการต่อไป รวมทั้งข้อเสนอทางนโยบายที่ได้จากการประชุมครั้งนี้จะนำไปเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำแผนปฏิรูปประเทศไทย นับตั้งแต่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว จำนวน 6,579 สภา คิดเป็นร้อยละ 84.08 ของจำนวนตำบล/เทศบาล/เขตทั่วประเทศ (7,825 แห่ง) โดยมีกลุ่มและองค์กรต่างๆ เข้าร่วมจัดตั้งกว่า 136,847 กลุ่ม/องค์กร รวมจำนวนสมาชิกทั้งหมด 219,574 คน และในปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนภารกิจของสภาองค์กรชุมชนฯ จำนวน 97 ล้านบาทเศษ ทั้งนี้ พอช.มีเป้าหมายภายในปี 2562 จะสนับสนุนการจัดตั้งสภาฯ ให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ หรือประมาณ 7,825 แห่ง “ในอีกห้าปีข้างหน้า พอช. จะเน้นเรื่องการสร้างคุณภาพให้กับสภาองค์กรชุมชนฯ ทั้งหมดที่จัดตั้งขึ้นทั่วประเทศไปพร้อมๆ กับความร่วมมือ และการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาประเทศเกิดความสมดุลอย่างแท้จริง มีเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ซึ่งตรงตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยจะน้อมนำเอาศาสตร์ของพระราชา ‘เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา’ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งต่อไป” ระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคมนี้ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรุงเทพฯ มีการสัมมนา ‘นโยบายและกลไกการขับเคลื่อนนโยบายคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน’ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากคณะกรรมการสถาบันฯ และที่ปรึกษา ผู้บริหารสถาบันฯ และเจ้าหน้าที่ คณะอนุกรรมการประสานงานขบวนองค์กรชุมชน ผู้แทนภาคประชาสังคม และผู้แทนหน่วยงานภาคี เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมธนารักษ์ ธกส. กองทุนสิ่งแวดล้อม สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ รวมทั้งหมดประมาณ 80 คน ด้วยขณะนี้ พอช. มีคณะกรรมการสถาบันฯ ชุดใหม่ จึงต้องมีการทบทวนนโยบาย และเสนอนโยบายการขับเคลื่อนงานของ พอช. ในช่วง 3 ปีข้างหน้า คือตั้งแต่ปี 2561-2563 รวมทั้งแผนงานในระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยจะต้องเน้นการทำงานเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ เน้นการทำงานให้มีประสิทธิภาพ มีจุดเด่น ทั้งงานสภาองค์กรชุมชนฯ งานสวัสดิการชุมชน งานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง งานบ้านมั่นคง เป็นต้น และจากการสัมมนาในครั้งนี้ นำร่างนโยบายคณะกรรมการสถาบันฯ พ.ศ.2561-2563 มี 4 ด้าน ดังนี้ คือ ด้านที่ 1 การเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น สู่รูปธรรมการจัดการตนเองอย่างมีคุณภาพ ด้านที่ 2 การผนึกพลังเครือข่ายภาคีพัฒนาความร่วมมือในลักษณะพหุภาคีอย่างบูรณาการ ด้านที่ 3 การเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาแกนนำและขบวนองค์กรชุมชนในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ด้านที่ 4 การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการองค์กรพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิจารณา ปรับปรุง เพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้ร่างนโยบายดังกล่าวมีความสมบูรณ์ และเกิดการมีส่วนร่วมจากภาคีและเครือข่ายองค์กรชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งมีข้อเสนอให้ พอช.จัดทีมวิชาการเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ให้มีการสื่อสารพื้นที่รูปธรรมจากชุมชนสู่สาธารณะมากขึ้น ปรับปรุงการทำงานของ พอช.ให้สั้นกระชับ แตกต่างจากราชการ รวมทั้งปรับปรุงระเบียบต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน ปรับวิธีคิดการทำงานให้ทันต่อสถานการณ์ และไม่ทำงานเฉพาะเป้าหมายหรือเฉพาะกิจกรรมของตนเอง ฯลฯ สำหรับสถานการณ์และความคืบหน้าของขบวนองค์กรชุมชนกับการปฏิรูปประเทศไทย คาดว่าขบวนองค์กรชุมชนจะต้องเกาะติดกับการปฏิรูปประเทศไทย ประมาณ 5 ปี ที่ผ่านมามีเวทีแลกเปลี่ยนและพัฒนาข้อเสนอภาคประชาชนเพื่อการปฏิรูปไปแล้ว 2 ครั้ง และขบวนองค์กรชุมชนได้ส่งข้อเสนอการปฏิรูปการประเทศไทยต่อคณะกรรมการปฏิรูปชุดต่างๆ เพื่อใช้ไปประกอบในการจัดทำแผนการปฏิรูปซึ่งต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560 และจะยื่นข้อเสนอกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ภายในวันที่ 24 มกราคม 2561 จากการประชุมบอร์ด พอช. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา บอร์ดได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด (คุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน) เพื่อปรับและนำเสนอ (ร่าง) นโยบายคณะกรรมการฯ ต่อคณะกรรมการสถาบันฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่งในปี 2561 คณะกรรมการ พอช. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานติดตาม ระบบงานภาค พัฒนาตัวชี้วัด นวัตกรรม ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ต่อเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างองค์กร มีองค์ประกอบจาก ที่ปรึกษา/คณะกรรมการ พอช. ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อเป็นกลไกในการติดตาม ประเมินผลหลังปรับโครงสร้างการทำงาน และพัฒนาตัวชี้วัดงานพัฒนาไปพร้อมด้วย การประชุมคณะกรรมการ พอช. เมื่อเดือนพฤศจิกายน และ ธันวาคม 2560 มีมติเห็นชอบแต่งตั้งผู้บริหารสถาบัน จำนวน 4 ท่าน ดังนี้ (1) ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ 2 ท่าน ได้แก่ 1) นายอัมพร แก้วหนู กำกับดูแลกลุ่มงานยุทธศาสตร์ โดยกลุ่มงานยุทธศาสตร์ต้องปรับบทบาทในการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ ทำงานวิชาการ/ข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ ไม่เน้นการลงพื้นที่ และ 2) นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง กำกับดูแลกลุ่มงานพื้นที่ (2) ตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ 2 ท่าน ได้แก่ 1) นางสาวเฉลิมศนี ระดากูล ผู้อำนวยการภาคกรุงเทพฯ และ 2) นางอุดมศรี ศิริลักษณาพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ นอกจากนั้นคณะทำงานบริหารงานบุคล (กบ.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งผู้บริหารระดับกลาง 2 คน ได้แก่ 1) นายกมล ปุยยะรุนเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการภาค กทม./ตะวันออก (ฝ่ายปฏิบัติการพื้นที่) 2) นางบุษกร ธาตวากร เป็นหัวหน้าสำนักการเงินและบัญชี และแต่งตั้งผู้บริหารระดับต้น 1 คน คือ นางดวงเดือน พร้าวตะคุ เป็นหัวหน้างานปฏิบัติการชุมชน ภาคเหนือ ก็ขอแสดงความยินดีกับทุกคนด้วยนะครับ และในปี 2561 นี้พี่จะบริหารร่วมกับรองผู้อำนวยการมากขึ้น มีการประชุมทุกเช้าวันอังคาร เพื่อประเมินและสรุปงานร่วมกันมากขึ้น และในการประชุมบอร์ดครั้งนี้ มีมติเห็นชอบเครื่องแบบปกติขาวของเจ้าหน้าที่ พอช. ในงานราชพิธีต่างๆ และการแต่งกายมาทำงานของเจ้าหน้าที่ พอช. เห็นควรให้มีการใช้ผ้าไทยเพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มรายได้ให้กับ ชุมชน โดยใช้ผ้าสีน้ำเงิน และมีตราสัญลัษณ์ พอช. ด้วย และในช่วงที่ผ่านมา ได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานภาค ทั้ง 5 ภาค ในการกำหนดพื้นที่ที่จะเสนอให้ รมว.พม. ได้ลง เพื่อได้เห็นภาพการพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งจากการประชุมร่วมกับท่าน รมว.พม. ในช่วงที่ผ่านมานั้น ท่านเน้นเน้นการประชุมที่เรียบง่าย ดูที่ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ รวมถึงเรื่องข้อมูลผลการดำเนินงาน และงบประมาณ รวมทั้งมีการประชุมเพื่อติดตามงานกับผู้บริหาร/อธิบดีหรือเทียบเท่าในวันพุธแรกของเดือน พี่เองได้ร่วมประชุมกับปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง “พม.มอบของขวัญปีใหม่ 2561” โดยจะมอบของขวัญ 9 อย่าง (กรมละ 1 อย่าง) ซึ่ง “พอช. มอบบ้านพอเพียงชนบท 2,561 ครัวเรือน” (จาก15,000 ครัวเรือน) และได้ฝากให้ ผอ.ทั้ง 5 ภาค ช่วยดำเนินการ และอาจเตรียม พท. ให้รมว.มอบเงินในการซ่อมแซมบ้านหรือบ้านที่ซ่อมแซมแล้วเสร็จ และในช่วงเดือน ธ.ค. 2560 – ม.ค. 2561 รมว.พม. มีตารางลงพื้นที่ ตามโครงการ ONE HOME ดังนั้นจึงขอความร่วมมือผู้อำนวยการภาค ในการเตรียมข้อมูลพื้นที่ว่ามีพื้นที่ภาคใดบ้างที่มีความพร้อมเพื่อดำเนินการร่วมกับ พม.ต่อไป ซึ่งอาจจะจัดร่วมกับหน่วยงาน พม.อื่นๆ ในจังหวัด เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะจัดการ ซึ่งจะประชุมกันเดือนละครั้ง และจะมีการประชุมทางไกลร่วมกับสำนักงานภาคเพื่อเล่าถึงสถานการณ์ และมอบนโยบายไปพร้อมกัน ซึ่งเดือน ม.ค. จะมีการประชุมในวันที่ 25 ม.ค. 2561 สำหรับ งบกลางปี 2561 รมว. พม. เปิดโอกาสให้หน่วยงานจัดทำแผนเสนองบประมาณกลางปี 2561 ในกรณีงบประมาณที่มีอยู่ไม่เพียงพอหรือมีความจำเป็น โดยให้นำเสนอช่วงประมาณ ม.ค. – ก.พ. 61 จะต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อม สามารถดำเนินการได้ทันที แล้วเสร็จภายใน ก.ย.61 เห็นผลลัพธ์ ผลผลิตที่ชัดเจน ที่ประชุมเห็นควรเสนอของบกลางปี 61 ใน 4 ประเด็นงานสำคัญ ประกอบด้วย (1) สวัสดิการชุมชน เนื่องจากมีฐานข้อมูลจำนวนสมาชิกที่ชัดเจนอยู่แล้ว โดยอาจขอทั้งงบสมทบกองทุน และการพัฒนาคุณภาพกองทุน (2) บ้านพอเพียง อาจเสนอขอเพิ่มเติมทั้งในส่วนของพื้นที่เดิม ซึ่งงบประมาณการก่อสร้างไม่เพียงพอ หรือพื้นที่ใหม่ และได้มีการจัดทำแผนการดำเนินการไว้แล้ว (3) สภาองค์กรชุมชน อาจเสนอทั้งงบพัฒนาคุณภาพสภาองค์กรชุมชน และการพัฒนาศักยภาพแกนนำ (4) เศรษฐกิจและทุนชุมชน สามารถเสนอพื้นที่เดิม แต่ควรเน้นการเชื่อมโยงเครือข่าย/คลัสเตอร์ ทั้งนี้ ขอให้แต่ละภาคนำส่งข้อมูลรายชื่อตำบล จำนวนหน่วย/ผู้รับประโยชน์ภายในวันที่ 29 ธ.ค. 60 มายังสำนักนโยบายและแผน ในวันที่ 17 ม.ค. นี้ จะให้มีการ “สรุปงานไตรมาส 1” โดยกลุ่มเป้าหมายคือ หัวหน้างานขึ้นไป จัดที่ พอช.ส่วนกลาง ทั้งนี้ขอให้แต่ละภาค/สำนัก เตรียมข้อมูลนำเสนอ ส่วนงานละ 10 นาที การสัมมนาเจ้าหน้าที่ ประจำปี 2561 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 20 มกราคม 2561 ณ เดอะ บลูม รีสอร์ท อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยออกเดินทางจาก พอช. เวลา 07.00 น. ของวันที่ 18 มกราคม 2560 และจะเดินทางกลับจากสถานการจัดสัมมนาในวันที่ 20 มกราคม เวลา 09.00 น. ซึ่งการสัมมนาดังกล่าว จะมีการมอบเสื้อโปโลสีน้ำเงินให้ผู้ปฏิบัติงานได้ใส่ โดยขอสมทบจากผู้ปฏิบัติงานคนละ 100 บาท และพี่ๆ ตั้งแต่หัวหน้างาน – หัวหน้าสำนัก – ผู้ช่วย ผอ.ภาค – ผอ.ภาค และผู้บริหาร จะสมทบค่าเสื้อเพิ่มเติม ถือเป็นการมอบของขวัญให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคน และพี่เองอยากจะมอบหมวก เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้พวกเราทุกคน ในส่วนนี้อดใจรอกันนิดนึงนะครับ ในช่วงที่ผ่านมาทีมบริหารจะดำเนินการทบทวนนโยบายการบริหารองค์กรให้สอดคล้องกับภารกิจและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยอาจมีการปรับโครงสร้างในบางส่วนงาน คณะทำงานบริหารงานบุคคลจึงเห็นชอบให้ชะลอการคัดเลือกผู้ปฏิบัติงานตามอัตราว่างก่อน ก่อนปิดท้ายขอแสดงความยินดีกับพวกเราทุกคนนะครับ กับความตั้งใจในการทำงานให้กับองค์กรและพัฒนาขบวนองค์กรชุมชนให้เข้มแข็ง วันที่ 25 ธ.ค. นี้ทุกคนก็จะได้รับเงินเดือนค่าจ้างอัตราใหม่ในเดือนธันวาคม 2560 พร้อมเงินตกเบิก รวมถึงลูกจ้างโครงการที่มีสิทธิได้รับการเลื่อนเงินเดือนค่าจ้าง รวม 42 คน ได้รับการเลื่อนค่าจ้างในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งจะได้รับค่าจ้างอัตราใหม่ในเดือนธันวาคม 2560 พร้อมตกเบิก 2 เดือน ก่อนจากกันก็ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพ ทำงานให้มีความสุข “รวมใจเป็นหนึ่ง เพราะเราคือ CODI FAMMILY”///สวัสดีครับ
พี่หรั่ง
22 ธ.ค. 2560