ม.ราชภัฎพระนคร / 15 มกราคม 2561 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่ ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พัฒนาชุมชนริมคลอง ภายใต้ “โครงการชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่” เพื่อส่งเสริมให้สถาบันวิชาการร่วมกับชุมชนริมคลองในการออกแบบระบบจัดการชุมชน นำองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ ดำเนินการใน 22 ชุมชน
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาชุมชนที่บุกรุกพื้นที่ริมคลองในกรุงเทพมหานคร และก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อเพื่อป้องกันน้ำท่วม โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดทำแผนงาน ‘บ้านประชารัฐริมคลอง’ หรือบ้านมั่นคง เพื่อรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อที่ต้องรื้อย้ายบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ จำนวน 52 ชุมชน รวม 7,081 ครัวเรือน (อยู่ในเขตสายไหม ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน จตุจักร ห้วยขวาง และวังทองหลาง) รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนริมคลอง และให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบในการสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมระยะทางรวม 45 กิโลเมตร โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2559 นั้น
นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมงานในวันนี้ เนื่องจากเป็นงานที่เกิดจากความร่วมมือเพื่อผนึกพลังทุกภาคส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับองค์กรชุมชนให้เกิดการพัฒนา ที่ใช้องค์ความรู้และภูมิปัญญาในการพัฒนาทุกมิติ นอกจากนี้กระทรวง พม.ก็จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน โดยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวง พม.เข้ามาดูแล ทั้งเรื่องเด็กและเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ รวมทั้งสนับสนุนเรื่องอาชีพของชาวชุมชนด้วย
“กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีเจตนารมณ์ในการทำงาน คือ การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม พัฒนาสังคมร่วมกันอย่างยั่งยืน ดังนั้นการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ “ชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่” ที่ได้จัดทำในวันนี้ เปรียบเสมือนใบเบิกทางให้หน่วยงานภาคี และพี่น้องชาวชุมชนริมคลอง ได้มาร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป”
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา พอช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชน โดยชุมชนที่รื้อย้ายออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ และสามารถอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้จะต้องเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ ระยะยาว 30 ปี เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ขณะนี้ก่อสร้างบ้านเสร็จไปแล้วจำนวน 915 ครัวเรือนใน 13 ชุมชน ตามแผนงานภายในเดือนมีนาคม 2562 จะสามารถก่อสร้างบ้านได้ทั้งหมด 4,500 หลัง
“พอช. มีบทบาทสนับสนุน การพัฒนาความเข้มแข็งองค์กรชุมชน ให้องค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาที่อยู่อาศัย สวัสดิการชุมชน เศรษฐกิจชุมชน สภาองค์กรชุมชน ซึ่งในพื้นที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่รัฐบาลมีนโยบายสร้างเขื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำ พอช. ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองควบคู่กันไป บนฐานคิด “คืนความสุขให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง” การทำความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพกลไกของชุมชนในการสนับสนุนระบบการจัดการชุมชนและสร้างเครือข่ายชุมชนริมคลองในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการเชื่อมโยงให้มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ร่วมกับชุมชนริมคลองออกแบบระบบจัดการชุมชนใช้องค์ความรู้จากสหวิทยาการและภูมิปัญญาของชุมชน รวมถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศและมีการนำใช้ข้อมูลในกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนและการออกแบบระบบการจัดการชุมชน รวมถึงใช้ในการทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนริมคลอง และขับเคลื่อนแผนพัฒนาชุมชนโดยความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน และเครือข่ายชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่”
ความร่วมมือระหว่าง 5 ฝ่าย มีเป้าหมายในการดำเนินการร่วมกันใน 22 ชุมชน โดยมีชุมชนริมคลองลาดพร้าวจำนวน 21 ชุมชน และชุมชนจากโครงการปทุมธานีโมเดล 1 ชุมชน ซึ่งโครงการดังกล่าวถือว่าเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน อันจะนำไปสู่การจัดการกับปัญหา และต่อยอดงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้สามารถเป็นชุมชนจัดการตนเอง และโครงการดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้แก่ ชุมชนริมคลอง ให้มีความน่าอยู่ อาทิ การทำข้อมูลอย่างเป็นระบบ การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต การเสริมสร้างสุขภาวะของคนในชุมชน ปรับแนวคิดและมุมมองของคนชุมชนริมคลองจากคลองเป็นที่รับของเสียและใช้ประโยชน์จากคลองทางเดียวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบโดยรวม ที่จะเกิดขึ้น เป็นมาร่วมกันสร้างคลองสะอาด พัฒนาพื้นที่ริมคลองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งสาธารณะประโยชน์ร่วมกัน จนคลองกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เรียกว่า “บ้านที่มากกว่าบ้าน” กับ “คลองที่มากกว่าคลอง” โดยการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง